หน้าแรก > สังคม

ป.ป.ส. ระดมหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมอภิปรายเข้ม ชี้ผลวิจัยปัญหาการแพร่ระบาดของเฮโรอีน ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 12:03 น.


พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นประธานเปิดโครงการนำเสนอผลงานวิจัยสำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดเฮโรอีนในกลุ่มเด็กเยาวชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติ เข้าร่วมรับฟัง โดยมีผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส. ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม ศูนย์บำบัดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร 15 แห่ง นักเรียน นักศึกษา และครูในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 140 คน ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. กรุงเทพฯ สำหรับผู้เข้าร่วมทางออนไลน์ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ (สบยช.), รพ.สต., อสม. เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ศอ.ปส.อ. ทั่วประเทศ เครือข่ายวิชาการและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ซึ่งร่วมรับชมผ่าน Facebook live เพจสำนักงาน ป.ป.ส. จำนวนกว่า 200 คน รวมผู้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ ทั้งทาง Onsite/Online จำนวนทั้งสิ้น 340 คน

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ผนึกพลังร่วมกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดของประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นอกจากปัญหายาบ้าที่เป็นปัญหายาเสพติดหลักของประเทศไทยแล้ว ยังพบว่า เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากบางพื้นที่ที่มีผู้เข้าบำบัดเฮโรอีนรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลระบบ บสต. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผู้เข้าบำบัดเฮโรอีน ทั้งหมดจำนวน 6,160 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และสงขลา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจขยายวงกว้าง”

พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงาน ป.ป.ส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่ทุกท่านได้ร่วมรับฟังการอภิปรายในครั้งนี้แล้ว ในส่วนของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยมาขับเคลื่อนมาตรการและแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเฮโรอีนกลุ่มเด็กเยาวชนในระดับส่วนกลางและในระดับพื้นที่ที่เหมาะสมทันสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชน และประชาชน ให้ตระหนักถึงโทษพิษภัยเฮโรอีน รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้มาเฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง พร้อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ปลอดภัยจากเฮโรอีนต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม