หน้าแรก > สังคม

‘อนุสรี’ คณะที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม ร่วมเสวนา 20 ปี ปฏิบัติการนวัตกรรมสังคมสู่ความเสมอภาคในสังคมไทย

วันที่ 2 พฤษภาคม 2024 เวลา 18:40 น.


วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “20 ปี ปฏิบัติการนวัตกรรมสังคมสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมไทย” ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสที่วิทยาลัยผู้นำนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ครบรอบ 20 ปี ณ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายเกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค และ ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท กัล์ฟ โดยมี ดร. อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และ ดร.สุริยะใส กตะศิลา และศาตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี ร่วมเปิดงาน โดยสาระสำคัญของการเสวนาในครั้งนี้สะท้อนมุมมองถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นต่างๆ ทั้งสิทธิที่ทำกิน ชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิที่อยู่อาศัยของชุมชน และคนในเมือง ตลอดจนกลุ่มประมงพื้นบ้าน การเข้าไม่ถึงระบบยุติธรรมของคนจนในฐานะผู้แทนหน่วยงานด้านยุติธรรม

 

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ กล่าวว่า สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากขึ้น กฏหมายจึงต้องมีการปรับปรุงให้ทันกับโลกและรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ เช่น อาชญากรรมไซเบอร์ และที่สำคัญกฏหมายอื่นๆ ต้องมีการปรับปรุงให้ประชาชนเข้าถึงระบบยุติธรรมได้มากขี้น ไม่ว่าจะเป็น ระบบกองทุนยุติธรรม ที่ให้คนจนสามารถขอรับความช่วยเหลือสำหรับการจ้างที่ปรึกษากฎหมาย การมี Application Justice Care สำหรับร้องทุกข์ การมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรึภาพ เข้าไปในพื้นที่รับฟังปัญหากลุ่มชนเผ่าต่างๆ ส่วนศาลยุติธรรม ก็พัฒนาระบบ Application D court ที่สามารถยื่นเอกสารทาง E file และการที่ ศาลมีระบบสืบพยานออนไลน์กับคดีผู้หญิงและเด็ก ที่ไม่ต้องเผชิญหน้าผู้ทำร้ายหรือละเมิด การมีข้อตกลงระหว่างศาลยุติธรรมและธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ เช่น สินเชื่อ บัตรเครดิต มีระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ เป็นต้น

น.ส.อนุสรี กล่าวต่อว่า ผลจากการเสวนาในครั้งนี้ได้มีการเสนอการปรับปรุงพัฒนากฏหมายให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงพัฒนาทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องภาครัฐ และปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับสภาพสังคม สภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไป ทั้งกฏหมายประกันสังคม กฏหมายแรงงานนอกระบบ รวมถึงกฏหมายด้านอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นต้น โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่กลางในการจัด Work shop ในแต่ละประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล มาร่วมกันระดมความคิด รับฟังปัญหา พัฒนามุมมอง และพัฒนาแนวคิด ทัศนคติผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่เสมอภาคและเป็นธรรม สรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรืออย่างน้อยเป็นเสียงจากประชาชน เพื่อให้ทุกคนในสังคมรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติภายใต้กฏเกณฑ์ที่มีความเป็นธรรม มิใช่กฏหมายที่เป็นธรรมแต่ลายลักษณ์อักษรแต่ไม่รู้สึกถึงความเป็นธรรมในชีวิตจริง

 

 

ข่าวยอดนิยม