หน้าแรก > สังคม

ครม. มีมติเห็นชอบปฏิญญาว่าด้วยการเร่งรัด และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือระดับโลก ต่อภัยคุกคามยาเสพติดสังเคราะห์

วันที่ 13 มีนาคม. 2024 เวลา 02:53 น.


ครม. มีมติเห็นชอบปฏิญญาว่าด้วยการเร่งรัดและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือระดับโลกต่อภัยคุกคามยาเสพติดสังเคราะห์ และขอความเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมในการรับมือภัยคุกคามจากยาเสพติดสังเคราะห์ระดับโลก

วันที่ 12 มีนาคม 2567นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในสารัตถะของปฏิญญาว่าด้วยการเร่งรัดและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรับมือระดับโลกต่อภัยคุกคามยาเสพติดสังเคราะห์1 (Ministerial Declaration on Accelerating and Strengthening the Global Response to Synthetic Drugs) (ปฏิญญาฯ) และให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมรับรองปฏิญญาดังกล่าว

2. เห็นชอบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมในการรับมือภัยคุกคามจากยาเสพติดสังเคราะห์ระดับโลก (Global Coalition to Address Synthetic Drug Threats) (แนวร่วมฯ) ของ ยธ. ในนามของประเทศไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เป็นหน่วยดำเนินการ

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งผลการพิจารร่วมรับรองปฏิญญาฯ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ ของประเทศไทยต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
[การประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (Commission on Narcotic Drugs: CND) สมัยที่ 67 มีกำหนดจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 14 - 22 มีนาคม 2567 โดยจะมีการหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ ในระหว่างวันที่ 14 - 15 มีนาคม 2567]

1. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อเปิดตัวแนวร่วมในการรับมือภัยคุกคามจากยาเสพติดสังเคราะห์ (Global Coalition to Address Synthetic Drug Threats) รวมถึงพิจารณารับรองปฏิญญาฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2566 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

- ตระหนักถึงเกี่ยวกับอันตรายต่อสาธารณสุขและสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติดสังเคราะห์ที่ไม่ใช่ในทางการแพทย์ การบำบัดรักษา และความท้าทายด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาที่ผิดกฎหมาย การรั่วไหล การลักลอบค้ายาเสพติด และอาชญากรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- แสดงความมุ่งมั่นในการจัดการกับความท้าทายอย่างครอบคลุมผ่านการดำเนินการด้านสาธารณสุขที่อิงหลักฐานเชิงวิชาการ ซึ่งมีเป้าหมายในการลดอุปทาน และการป้องกันและการลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ต่อบุคคลและสังคม รวมถึงจากการใช้ยาเกินขนาด ตลอดจนการป้องกันและต่อสู้กับการผลิตยาผิดกฎหมาย การรั่วไหล และการลักลอบค้ายาเสพติดสังเคราะห์และสารตั้งต้น รวมถึงการลักลอบค้ายาเสพติดทางอินเทอร์เน็ต

แนวทางการดำเนินการที่สำคัญ

- จัดตั้งแนวร่วมฯ เพื่อเป็นกลไกประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศของปฏิญญาฯ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการตอบสนองระดับโลกร่วมกันต่อความท้าทายระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยที่เกิดจากยาเสพติดสังเคราะห์ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการที่ครอบคลุม สมดุล อิงตามหลักฐานวิชาการ และการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. 1972) อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 รวมถึงตราสารระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ
- จัดแนวทางลำดับความสำคัญในการดำเนินการและสร้างความก้าวหน้าในการดำเนินการในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรม การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าที่สามารถวัดผลได้
- สนับสนุนคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบายของระบบสหประชาชาติที่มีความรับผิดชอบหลักในการควบคุมยาเสพติดและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

กระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า วัตถุประสงค์ของปฏิญญาฯ และการจัดตั้งแนวร่วมฯ ไม่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ของ ยธ. (สำนักงาน ป.ป.ส.) ตามมาตรา 12 (7) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งบัญญัติให้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับนโยบายที่สำคัญและเท่าทันเหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระเร่งด่วน มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชนและดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดสิ้นจากสังคมไทยภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ขณะที่ผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งเน้นการใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งกำหนดให้มีการยกระดับและรักษาบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้    การรับรองปฏิญญาฯ และการเข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. กับสำนักงานปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม