หน้าแรก > ภูมิภาค

กรมทรัพยากรธรณี แจง "แผ่นดินไหวปาย" ไม่กระทบชุมชน แนะวิธีตรวจเช็กบ้านเรือนหลังเกิดเหตุหากมีข้อกังวลหรือโครงสร้างอาคารที่มีการต่อเติม

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 เวลา 16:05 น.


เมื่อเวลา 01.28 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.4 จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (Minor) ที่ระดับความลึก 3 กิโลเมตร บริเวณตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และต่อมาเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เคียงกัน จำนวน 4 ครั้ง เวลา 01.36 น. ขนาด 2.7 เวลา 01.40 น. ขนาด 2.0 เวลา 02.49 น. ขนาด 2.9 และเวลา 06.15 น. ขนาด 2.3 ตามลำดับ เบื้องต้นไม่มีรายงานความเสียหาย

กรมทรัพยากรธรณี โดยนายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม เผยสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า จากการตรวจสอบโดยศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย ทราบว่าเกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง ที่มีการวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ (Normal fault) หรือการแยกตัวออกจากกัน ในลักษณะอีกด้านของรอยเลื่อนเลื่อนลงและอีกด้านเลื่อนขึ้น แต่ด้วยจุดเหนือศูนย์เกิดเหตุเป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชน และเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้ ข้อมูลจากเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณี และสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 พบว่าประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่ตำบลแม่นาเติง ตำบลเวียงเหนือ และตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ด้านนายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและรองโฆษกกรม อธิบายเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวขนาด 3.4 จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ผู้คนที่มีความรู้สึกไวจะรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวเล็กน้อย และคนที่อยู่กับที่จะรู้สึกว่าพื้นสั่น แรงสั่นสะเทือนคล้ายมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน แต่ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของอาคาร แต่เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวบริเวณใกล้เคียงอีก 5 ครั้งตามมา ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่มีความกังวล กรมทรัพยากรธรณีได้ประสานงานกับเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อบูรณาการด้านข้อมูล และติดตามประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว ให้แก่เครือข่ายฯ ทธ. และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนกจากเหตุดังกล่าว

ทั้งนี้ นายศักดา ขุนดี ผู้อำนวยการส่วนธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมข้อมูลวิธีตรวจเช็กอาคารบ้านเรือนเบื้องต้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า การก่อสร้างที่พักอาศัยหรืออาคารที่ทำการโดยทั่วไปจะเรียงลำดับความแข็งแรงมากที่สุดที่ฐานราก เสา และคาน เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวให้สังเกตในแนวย้อนกลับ หรือที่ "คาน" ส่วนที่อ่อนไหวที่สุดของโครงสร้าง ประชาชนในพื้นที่หรือผู้ที่กังวลสามารถตรวจเช็กได้โดย “การสังเกตดูที่จุดเชื่อมต่อบนสุดระหว่างคานกับเสา ไล่มาที่ปลายเสาที่เชื่อมต่อกับฐานราก หากพบว่ามีรอยแตกร้าวใหม่ หรือมีรอยปูนกระเทาะ โดยเฉพาะอาคารที่ต่อเติมใหม่ที่พาดพิงระหว่างอาคารเดิมจะเป็นจุดที่อาจเกิดความเสียหายได้”

กรมทรัพยากรธรณีมีภารกิจด้านการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังซึ่งเป็นบริเวณศูนย์เกิดแผ่นดินไหวพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 16 รอยเลื่อน และได้จัดทำ

"สมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. 2562" เพื่อนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้ที่ลิงก์ https://anyflip.com/kera/pimh/

ข่าวยอดนิยม