หน้าแรก > สังคม

มท.1 ประชุมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เน้นย้ำ มาตรการ 3 ด้าน ไกล่เกลี่ยประนีประนอมหนี้ บังคับใช้กฎหมาย

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 15:27 น.


วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม
มติที่ประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
2. มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1) ด้านการไกล่เกลี่ยประนีประนอมหนี้ มีกรมการปกครองเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มเปิดลงทะเบียนจนถึง วันที่ 17 ธันวาคม 2566 ลูกหนี้มาลงทะเบียนแล้ว 99,484 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,926 ล้านบาท จึงได้มีการเชิญเจ้าหนี้ ลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยโดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับตำรวจและพนักงานอัยการ โดยทางเจ้าหนี้-ลูกหนี้ สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ และมีการทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว จำนวน 20 ราย
2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย จะมีทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้งเรียกเจ้าหนี้มาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
3) ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจะมีทางกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐ ในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อยและอาจมีระยะเวลา ปลอดการชำระคืนเงินต้น ในเบื้องต้นอาจจะเป็นวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี นอกจากนี้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ตามสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ 7 ประการข้างต้น ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่น การหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต เป็นต้น
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอดำเนินการ โดยมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัคร ทุกหมู่บ้าน ออกตรวจตราดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภท เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ประชาชน พร้อมติดตามดำเนินคดีกับผู้ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ คุกคามโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างเฉียบขาด พร้อมนำประมวลข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเร่งดำเนินการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยเร็วที่สุด

ข่าวยอดนิยม