วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11:06 น.
28 พ.ย.2566 นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จังหวัดปัตตานีมีผู้ป่วยไอกรนแล้ว 72 ราย กระจายในหลายอำเภอและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กทารกอายุ 18 วัน ซึ่งร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกัน รับเชื้อมาจากผู้อาศัยร่วมบ้าน
นอกจากนี้แนวโน้มการติดเชื้อยังคงสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากการอัตราการรับวัคซีนของเด็กในพื้นที่จังหวัดปัตตานีน้อยอยู่มาก ทั้งที่โรคไอกรนและอีกหลายๆโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานรับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์อายุ ได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี หมายเลขโทรศัพท์ 073-460234 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
สำหรับ โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส หลังติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรงและมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง วู้ป (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบาก) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทย ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก ไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การรักษาไอกรน การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อประคับประคองตามอาการและลดการแพร่กระจายของเชื้อฯ
สำหรับผู้ป่วยเด็กทารกหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระบบการหายใจ หรือมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดน้ำ
ผู้ป่วยไอกรนที่อยู่ในระหว่างการรักษาสามารถรับมือและดูแลตัวเองที่บ้านให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในอุณหภูมิที่เหมาะสมแก่การนอน
- ดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งน้ำเปล่า น้ำผลไม้ ควรระวังการเกิดภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก สามารถสังเกตได้จากหลายอาการ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม เป็นต้น
- รับประทานอาหารมื้อเล็กลง เพื่อหลีกเลี่ยงการอาเจียนหลังอาการไอ
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ปราศจากตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการไอ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ เป็นต้น
การป้องกันไอกรน โรคไอกรนเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เริ่มฉีด 3 เข็มแรกเมื่อเด็กที่มีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบชุด 4 ครั้งแรกแล้ว ตอนอายุ 4-6 ปี และเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ 27 และ 36 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยปกป้องทารกจากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอดอีกด้วย