หน้าแรก > ภูมิภาค

พบเสือดาวป่าแก่งกระจานนอนตาย มีบาดแผลลอยเขี้ยวกรงเล็บ 42 แห่ง สัตวแพทย์ลงความเห็นแผลติดเชื้อจากการต่อสู้กับสัตว์ป่าด้วยกัน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 16:20 น.


2 พ.ย. 2566 นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่พบเสือดาวได้รับบาดเจ็บเข้ามาหลบภัยที่หน่วย กจ.4 (บ้านกร่าง) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบซากเสือตัวดังกล่าว นอนตายในพุ่มไม้ ห่างจากอาคารด่านตรวจ  บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ กจ. 4 (บ้านกร่าง) ประมาณ 100 เมตร 

นายอนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และนายสัตวแพทย์ ปศุสัตว์อำเภอแก่งกระจาน ได้เข้าทำการตรวจสอบซาก พบว่าเป็นเสือดาว เพศเมีย อายุประมาณ 6-7 ปี หนัก 16.3 ก.ก. ความยาวตั้งแต่หัวจรดหาง 167 ซ.ม. พบบาดแผลจากลอยเขี้ยวและกรงเล็บ บริเวณหัว ลำตัวทั้ง 2 ด้าน ขา และหาง จำนวนรวม 42 แผล สำหรับสาเหตุการตาย สัตวแพทย์ลงความเห็นว่า เกิดจากภาวะการติดเชื้อจากบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้กับสัตว์ป่าด้วยกัน และภาวะขาดอาหาร คณะเจ้าหน้าที่จึงจัดทำบันทึกสาเหตุการตายไว้เป็นหลักฐาน  สำหรับซากเสือดาวดังกล่าวที่เริ่มเน่าเสีย เจ้าหน้าที่นำไปฝังกลบและโรยทับด้วยปูนขาวตามหลักวิชาการ 

ทั้งนี้ จากการศึกษาและติดตั้งกล้องเพื่อสำรวจประชากรเสือดาว-เสือดำ บริเวณบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ตั้งแต่ ปี 2556 - 2566 พบว่าประชากรเสือดาว-เสือดำ บริเวณดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 10 ตัว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเปรียบเทียบภาพถ่ายว่าเป็นเสือดาวตัวใด สำหรับว่าเสือดาว - เสือดำ นับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งหายากมากในธรรมชาติ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ระบบนิเวศในผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ยังคงความอุดมสมบูรณ์

เสือดาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera pardus Linnaeu) เป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมรักสันโดษ อาศัยอยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในป่าทึบ ป่าโปร่ง มันสามารถปรับตัวให้อยู่ในพื้นที่โล่งได้ แต่ต้องมีหินหรือพุ่มไม้แห้งๆ เพื่อให้มันรู้สึกปลอดภัย เสือดาว ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ดี และสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำได้โดยไม่มีปัญหา เสือดาวเป็นสัตว์ที่ฉลาด และสามารถหาวิธีในการจับเหยื่อได้อย่างเฉียบแหลม เพราะวิธีที่มันเลือกใช้ถือว่ามีความล้มเหลวและพลาดจากเหยื่อได้น้อยที่สุด 


 
ที่มา : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม