หน้าแรก > สังคม

กรมบังคับคดี แนะลูกหนี้ กยศ.4.6 หมื่นราย ติดต่อสำนักงานบังคับคดีเพื่อทำหนังสือยินยอมให้หยุดบังคับคดีรับสิทธิ์ลดดอกเหลือ 0.5% ต่อปี

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 เวลา 10:13 น.


วานนี้ (30 ตุลาคม 2566) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผย ตามที่กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดโครงการ Quick Win ของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีดำเนินการในเรื่อง การบังคับคดีเชิงรุก แก้ไขปัญหาหนี้สินพัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่งผ่านการทำงานของกรมบังคับคดี ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ ก.ย.ศ.เป็นหนึ่งในภารกิจของกรมบังคับคดี ที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ กยศ.มีลูกหนี้ทั้งหมดกว่า 3.7 แสนคดี  ที่อยู่ระหว่างหมายยึด อายัดทรัพย์อยู่ที่กรมบังคับคดี 46,000 คน ซึ่งมีผลต่อการดำเนินงานของกรมบังคับคดี เนื่องจากพ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้กองทุนฯ อาจผ่อนผันการชำระหนี้ ระยะเวลา การลดหย่อนหนี้ การชำระคืน  ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ได้นั้น ลูกหนี้จะต้องมาแสดงตนทำหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก่อน ในช่วงที่การบังคับใช้กฎหมายใหม่ ยังไม่มีผลสมบรูณ์  เนื่องจากอยู่ในระหว่างกองทุนฯดำเนินการออกข้อบังคับ หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ทั้งนี้ นอกจากลูกหนี้กยศ.จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้  ลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระ รวมทั้งยังมีผลถึงผู้ค้ำประกันที่หลุดพันภาระด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะที่คดีที่ใกล้หมดระยะเวลาบังคับคดีอีก 1,400 คดี กรมบังคับคดีต้องดำเนินกาตามกฎหมายไปก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่ชำระเกินจากการคำนวณหนี้ใหม่ ของ กยศ.จะได้รับคืนหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบในขณะนี้ เพราะต้องไปหารือกันก่อน เนื่องกฎหมายกำหนดว่า เงินที่ใช้ชำระหนี้ ไม่สามารถเรียกคืนได้

ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาหนี้ กยศ.มีประชาชนเกี่ยวข้องจำนวน 6.4 ล้านคน โดยเป็น ผู้กู้ 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นอยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้และยังไม่ได้ฟ้องคดี  2.4 ล้านคน  ขณะที่พิพากษาแล้วอยู่ระหว่างบังคับคดี 1.2 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน ทั้งนี้ มองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ไทยช่วง 20 ปี ไม่เคยมีหนี้เสียสูง 60-70 % ซึ่งปกติปัญหาการไม่ใช้หนี้สินเกิดจากลูกหนี้ แต่อาจมีกรณีที่ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในส่วนของหนี้กยศ.มีปัญหา เดิมกยศ.กำหนดดอกเบี้ย15 ปี เริ่มจากอัตรา 1.5 % ต่อปี และในที่ปีที่ 5 สูง 5% โดยจะขยับขึ้นถึง15 % ในปีที่ 13 หากมีหนี้ต้องชำระ 1 แสนบาทนั้นในปีที่ 5จะมีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ5,000 บาท  และประการถัดมาอัตราเบี้ยปรับผิดนัดชำระเดิมสูง 18% ต่อมาภายหลังปรับลดลงเหลือ 7.5% แต่จากผลแก้ไขกฏหมายใหม่ทำให้ปัจจุบันอัตราเบี้ยปรับลดลงเหลือเพียง 0.50%ต่อปี นอกจากนี้ ตามกฎหมายใหม่จะนำไปหักเงินต้นก่อน ระยะต่อไปจึงเป็นการนำไปชำระดอกเบี้ย และสุดท้ายจึงจะนำไปจ่ายเบี้ยปรับ

“ขอยกตัวอย่างลูกหนี้กยศ. ในรายก่อนหน้านี้บางรายที่มีเบี้ยปรับสูง 1.1 ล้านบาท ขณะที่เจ้าตัวเงินต้นกู้มา 7 แสนบาท หรืออีกรายกู้ 2.6 แสนบาท ซึ่งใช้หนี้ไปแล้วรวม 7 แสนบาท แต่ปรากฏว่าขณะนี้หนี้ยังเหลือคงค้าง 1.5 แสนบาท  จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถจะออกจากวังวนหนี้”

นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า หลักเกณฑ์การบังคับใช้เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมายพ.ร.บ.กองทุน กยศ. ที่แก้ไขใหม่แล้วนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ ต้องออกหลักเกณฑ์กำหนด และอยู่ระหว่างดำเนินการของกองทุนฯ แต่เนื่องจากกรมบังคับคดีมีลูกหนี้กองทุนฯ ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีในปัจจุบันเป็นจำนวน 46,004 คดี ทุนทรัพย์ 6,633,172,319.77 บาท แบ่งเป็น คดียึดทรัพย์ จำนวน 22,312 คดี ทุนทรัพย์ 3,156,435,215.75 บาท คดีอายัด จำนวน 23,692 คดี ทุนทรัพย์  3,476,172,319.77บาท ซึ่งได้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์ไปแล้ว จึงให้ระงับการยึดและประกาศขายทอดตลาดชั่วคราวไว้ก่อน  ส่วนการอายัดทรัพย์เป็นก้อนหรือเงินเดือน ก็จะให้ชะลอบังคับคดีเช่นกัน  เนื่องจากกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวต้องได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่2) ซึ่งกรมบังคับคดีมีความกังวลว่าผลการคำนวณจำนวนหนี้แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีลูกหนี้กยศ.จำนวน 1,400 คดี ที่ใกล้จะหมดเวลาบังคับคดีก็จะไม่นำทรัพย์มาขายทอดตลาด

“สิ่งที่ลูกหนี้กองทุน ฯ ต้องดำเนินการ โดยลูกหนี้ต้องยื่นหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในช่องทางต่าง ๆ หรือ ติดต่อที่กรมบังคับคดี สายด่วน 1111 กด 79 หรือติดต่อสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ นอกจากนี้ ส่งหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี ทาง e- mail ของสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ”

ข่าวยอดนิยม