วันที่ 25 กันยายน 2566 เวลา 11:04 น.
25 กันยายน 2566 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า RSV เป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นได้อีก เด็กบางคนเป็นได้ทุกปี โดยพบว่าในการเป็นครั้งแรกจะมีอาการมากที่สุด
โดยปกติมากกว่า 80% จะได้รับภูมิต้านทานส่งต่อจากมารดาและภูมินี้จะหมดไปที่ประมาณ 6 เดือนหลังคลอด เด็กจึงมีโอกาสติด RSV ครั้งแรกหลัง 6 เดือนขึ้นไปได้สูง และเป็นเด็กเล็กอาการที่เกิดหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ จึงค่อนข้างเด่นชัด และเป็นเหตุให้ต้องนอนโรงพยาบาล ถ้ามีอาการมากถึงกับต้องให้ออกซิเจน แต่โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะเป็นการแบบประคับประคองรอเวลาแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจาก RSV ในประเทศไทยพบน้อยมากๆ ยกเว้นในประเทศยากจนที่เด็กขาดอาหาร ร่างกายไม่แข็งแรง "เมื่อเป็นแล้วภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะปกป้องการติดเชื้อในปีต่อไปได้ ก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก"
จากการศึกษาของเราที่ศูนย์ ในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจำนวน 81 ราย 72 รายติดเชื้อซ้ำ อีก 1 ครั้ง 9 รายติดเชื่อซ้ำอีก 2 ครั้งรวมเป็นติดเชื้อ 3 ครั้ง และส่วนใหญ่เกิดภายในอายุ 5 ปี แต่จากการศึกษาทางด้านภูมิคุ้มกันมีเด็กบางคนเมื่ออายุถึง 5 ปี ติดเชื้อทุกปี แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเท่านั้น
เด็กที่ติดเชื้อและได้รับการวินิจฉัยที่เราทำการศึกษา 81 ราย เราศึกษาลงลึกถึงสายพันธุ์ของ RSV เรารู้ว่าสายพันธุ์ของ RSV มี 2 สายพันธุ์หลักคือ A และ B และมีสายพันธุ์ย่อย ของ A และ B อีกเป็นจำนวนมาก การศึกษาลงลึกของพันธุกรรมเราพบว่าปีนี้ติดเชื้อ RSV A ปีต่อไปก็สามารถติดสายพันธุ์ A ได้อีก หรือเป็นสายพัน B ก็ได้ ในทำนองกลับกันสายพันธุ์หลักไม่ได้ช่วยป้องกันข้ามสายพันธุ์เลย และก็ไม่ช่วยป้องกันสายพันธุ์เดียวกัน รวมทั้งสายพันธุ์ย่อยที่เราพบเช่นสายพันธุ์ ON1 เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังติดเชื้อซ้ำในปีต่อไปได้ เหตุผลดังกล่าว RSV จึงมีปัญหาในการพัฒนาวัคซีนอย่างมากโดยเฉพาะในเด็กถึงแม้ว่าจะมีการนำวัคซีนมาใช้ในผู้สูงอายุหรือสตรีตั้งครรภ์ แต่เชื่อว่าการป้องกันจะอยู่ระยะสั้น
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ