หนานจิง, 19 ก.ย. ซินหัว รายงานว่า -- การวิจัยทางโบราณคดีครั้งใหม่เปิดเผยการสกัดดีเอ็นเอ (DNA) จากโครงกระดูกมนุษย์อายุ 6,000 ปี ที่พบในเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีนรายงานระบุว่าตัวอย่างดีเอ็นเอมนุษย์โบราณจากโครงกระดูกมนุษย์เพศชายที่พบในหลุมศพหลุมหนึ่ง มาจากยุควัฒนธรรมหม่าเจียปัง (Majiabang Culture) ของยุคหินใหม่
เหวินเซ่าชิง นักโบราณคดีที่เป็นผู้นำการวิจัย กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย (mitochondrial DNA) ซึ่งพบในโบราณสถานแห่งอื่นทั้งในจีนและภูมิภาคต่างๆ พบว่าสารพันธุกรรมประเภทนี้เหมือนกับดีเอ็นเอที่พบในสถานที่แห่งอื่น ซึ่งรวมถึงเวียดนามตอนเหนือ (เมื่อ 4,000-2,000 ปีก่อน) ลาวตอนเหนือ (เมื่อ 3,000 ปีก่อน) อินโดนีเซีย (เมื่อ 2,000 ปีก่อน) ฟิลิปปินส์ (เมื่อ 1,800 ปีก่อน) และกว่างซีของจีน (เมื่อ 1,500 ปีก่อน)
เหวิน ระบุเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างการวิจัยดีเอ็นเอโบราณในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเผชิญอุปสรรคจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ที่ย่ำแย่
(แฟ้มภาพซินหัว : คณะนักโบราณคดีปฏิบัติงานขุดค้นหลุมศพซึ่งพบจากซากโบราณหม่าอันของเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ที่ได้รับการขุดและจัดส่งมายังสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน วันที่ 2 มิ.ย. 2023)