หน้าแรก > สังคม

อย่าพลาด! วันนี้ (30 ส.ค.66) ปรากฏการณ์ Super Blue Moon

วันที่ 30 สิงหาคม 2023 เวลา 13:34 น.


คืน 30 ถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 มี 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon) 

ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงขณะไกลโลกที่สุดในรอบปีแล้ว อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14% และอาจสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้น เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะภาพเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า 
ในแต่ละเดือน ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ไม่คงที่ อยู่ใกล้โลกและไกลโลกสลับกันไป นักดาราศาสตร์เรียกตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 357,334 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 405,818 กิโลเมตร ส่วนคำว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน” เป็นเพียงการตั้งชื่อช่วงเหตุการณ์ที่ “สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” เท่านั้น ไม่ได้เป็นชื่อในทางวิทยาศาสตร์

ผู้สนใจเก็บภาพความประทับใจสามารถเตรียมตัวถ่ายภาพด้วยหลักการเบื้องต้น ดังนี้
1) ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ความยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูง จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า 
2) ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เนื่องจากดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ค่าความไวแสงสูง จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วย ช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว
3) การปรับโฟกัสภาพ แนะนำใช้ระบบ Live View บนจอหลังกล้อง เลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด
4) ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป อาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบภาพดูว่าเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่  
5) ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) เนื่องจากสามารถปรับการตั้งค่าได้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวก
6) ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600 วินาที หากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปให้เพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ขึ้นจนได้แสงที่พอดี
7) รูรับแสง เลือกใช้ในช่วงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ
8) ปิดระบบกันสั่นของเลนส์
9) ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง
10) การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

เมื่อทราบหลักการเบื้องต้นแล้วสามารถประยุกต์ใช้เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ให้น่าสนใจ  อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ Moon Illusion เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้ามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร

 

ข่าวยอดนิยม