หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

กรมแพทย์แผนไทย วิจัย “ยาพอกเข่า” ช่วยลดอาการปวด ฝืด เพิ่มการเคลื่อนไหวผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 11:34 น.


นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึง กรมฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ จัดทำโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัยของหัตถการ “พอกเข่า” กลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เป็นการศึกษาเชิงการทดลอง ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาโครงร่างงานวิจัยในคนแล้ว 

โดยศึกษายาพอกเข่าสูตรร้อน สูตรตำรับดั้งเดิมซึ่งกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ในฐานะผู้วิจัย ได้ผลิตยาพอกเข่านี้ จากโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ที่มีสรรพคุณในการรักษาแตกต่างกัน แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มแก้ปวด แก้อักเสบ แก้บวม แก้เส้น ได้แก่ หัวดองดึง ใบพลับพลึง ไพล ขิง ผักเสี้ยนผี ว่านน้ำ และ ว่านร่อนทอง

2.กลุ่มทำให้เลือดไหลเวียนดี ได้แก่ พริกไทยล่อน และ ผิวมะกรูด

3.กลุ่มรักษาอาการอักเสบจากการติดเชื้อ ได้แก่ เจตมูลเพลิงแดง ข่า และว่านนางคำ

4.กลุ่มที่มีฤทธิ์ขับของเสียออกทางผิวหนัง/รูขุมขน ได้แก่ ใบมะขาม และ ใบส้มป่อย เป็นต้น

จากผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ที่ได้รับหัตถการพอกเข่าร่วมกับการนวด มีอาการปวด ฝืดของข้อเข่าลดลง และสามารถใช้งานของข้อเข่าดีกว่าผู้ที่ได้รับหัตถการนวดเพียงอย่างเดียว

ใช้ได้กับผู้ที่มีภาวะเข่าเสื่อมทุกระยะ ทั้งระยะ 1 ทำงานทุกอย่างตามปกติ ระยะ 2 ทำงานหนักไม่ได้ ระยะ 3 ทำกิจวัตรประจำวันได้ และระยะ 4 เดินไม่ไหว เมื่อได้รับหัตถการพอกเข่าร่วมกับการนวด จะมีอาการดีขึ้นทุกราย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์

จึงเตรียมผลักดันให้หัตถการพอกเข่าเป็นบริการสำหรับประชาชนที่มีปัญหาปวดข้อเข่าจากภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า โดยจะส่งเสริมให้หน่วยบริการทุกแห่งให้บริการพอกเข่า ส่งเสริมพัฒนารูปแบบยาพอกเข่าให้เป็นนวัตกรรมที่สะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้ด้วยตนเอง เช่น แผ่นแปะ, สเปรย์, เจล , ลูกกลิ้ง ฯลฯ และนำผลการศึกษาเป็นข้อมูลให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาเพิ่มเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป

 

ข่าวยอดนิยม