วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เวลา 10:28 น.
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีประกาศสำเร็จการศึกษา มอบขีดหมวกพยาบาลและเข็มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับบัณฑิตพยาบาลศาสตร์ รุ่นที่ 3 พร้อมปฏิบัติงานตามปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีประกาศสำเร็จการศึกษา มอบขีดหมวกพยาบาลและเข็มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2565 และมอบเกียรติบัตรรางวัล WISH AWARD ให้กับนักศึกษาที่มีความโดนเด่นในอัตลักษณ์ของบัณฑิตวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี คือ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่นักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงด้านต่างๆ ให้กับสถาบัน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธีและกล่าวแสดงความยินดี ให้โอวาทแก่นักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 62 คน พร้อมด้วยคณาจารย์ ผู้ปกครองและแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีอันทรงเกียรติ ณ หอประชุม CRA Hall ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
พิธีประกาศสำเร็จการศึกษา มอบขีดหมวกพยาบาลและเข็มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถือเป็นพิธีการที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่งดงามของวิชาชีพพยาบาล เพราะขีดหมวกถือเป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต แสดงถึงความพร้อมในการปฏิบัติการพยาบาล มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อวิชาชีพพยาบาลและมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลทุกคนจึงต้องยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณและมาตรฐานของวิชาชีพ เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชนและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
เข็มราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจในสถาบันที่สำเร็จการศึกษา เป็นสัญลักษณ์ให้นักศึกษาตระหนักถึงวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร จากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ก่อกำเนิดด้วยพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีพระประสงค์ในการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร ทั้งนี้ ได้รับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รุ่นแรกในปีการศึกษา 2560 โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ รอบรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพการพยาบาล มีอุดมการณ์ มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อวิชาชีพ รวมทั้งเป็นพลเมืองดีที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้อัตลักษณ์ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข ซึ่งหมายถึงการมีความรู้และสามารถแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลด้วยกระบวนการวิจัย มีจิตอาสาในการทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและสามารถสร้างความสุขให้กับตนเองและผู้อื่น
โอกาสนี้ นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณทิต 4 ท่านที่ได้รับเกียรติบัตรรางวัล WISH AWARD ได้แก่ นายธนทัต สิงห์คำ นางสาวอรอร เดือนเพ็ญนายทนงศักดิ์ พันจำปา และนางสาวศุภานน แซ่จ่าว ได้กล่าวถึงความรู้สึกตลอด 4 ปี
ธนทัต: อันดับแรกก็คือ ได้เพื่อนที่น่ารักและได้มิตรภาพจากทั้งทางอาจารย์และเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เพราะที่นี่ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องความรู้ อาจารย์ก็เป็นที่ปรึกษาให้เราตลอด รวมถึงโอกาสความก้าวหน้าในหน้าที่การงานสามารถนำไปต่อยอดในด้านต่างๆ ได้ในอนาคต
อรอร: ได้รับทั้งความรู้ ความผูกพันและความรักจากการเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี โดยที่นี่สั่งสมให้นักศึกษาเป็นคนดีแล้วก็รักที่จะให้บริการกับผู้ป่วยหลังจากที่เราสำเร็จการศึกษาไป
ทนงศักดิ์: ฝึกฝนให้เราได้กล้าแสดงออกมากขึ้น มีการพัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังเน้นในเรื่องของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยนักศึกษาได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เพื่อที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลต่อไป
ศุภานน: ได้ความรู้และการใช้ชีวิต รวมถึงการสร้างตัวตนของเราให้มีความมั่นใจให้ในตนเองและการพัฒนาตนเองในการสร้างอาชีพ
ทั้งหมดเตรียมรับมือกับความท้าทายในวิชาชีพอย่างไร?
ธนทัต: ต้องเวิร์กไลฟ์บาลานซ์ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพราะหากเราซึ่งเป็นผู้ที่จะไปดูแลรักษาคนไข้เป็นพยาบาลที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีแล้ว คนไข้ก็จะได้รับการพยาบาลที่ดีทั้งกายและใจด้วยเช่นกัน
อรอร: อย่างแรกเราต้องเริ่มที่จิตใจของเราก่อน ถ้าเรามีความตั้งใจมีความเชื่อมั่น ทำในสิ่งที่รัก ก็จะไม่รู้สึกเหนื่อยและท้อ
ทนงศักดิ์: ในเรื่องของความท้าทาย จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการทำงานที่ยาวนาน ประกอบกับคนไข้ที่มากขึ้นด้วย ทั้งนี้เราได้รับการฝึกฝนมาตลอด 4 ปีในการเรียน ทำให้มีการรับมือได้ครอบคลุมหลายสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นอาจจะมีในเรื่องของการปรับตัวเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า ที่ทำให้เรารับมือได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ความท้าทายที่เป็นเรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา
ศุภานน: สถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของพยาบาลเกิดขึ้นมาก สิ่งเดียวที่จะทำให้พยาบาลก้าวข้ามสู่การพยาบาลที่มีคุณภาพต้องเริ่มจากตัวเราเองโดยต้องมุ่งมั่นในการทำงานและทำตามบทบาทหน้าที่ของเราอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ