หน้าแรก > สังคม

เตือนห้ามกิน! ว่านจักจั่น เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง อันตรายขั้นเสียชีวิตได้

วันที่ 11 มิถุนายน 2566 เวลา 11:56 น.


ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เตือน "ว่านจักจั่น" ระบุว่า ว่านจักจั่น เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ไม่ควรนำมากินกัน อาจเป็นอันตราย

เนื่องจากมีการแชร์ภาพของแปลก คล้ายหนอนที่มีก้านงอกยื่นออกมา ในเพจ FB หนึ่ง โดยการตั้งคำถามว่า “กินหรือเอาไปทำอะไรดีครับ” สิ่งที่เห็นในภาพนั้นคือ “ว่านจักจั่น” มันเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นอยู่ในตัวอ่อนของจั๊กจั่นที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เพราะอาจจะรับสารพิษอันตรายได้

ส่วนบางคนที่ไปขุดเก็บกันมา โดยมองว่าเป็นวัตถุมงคล ตามความเชื่อว่าเป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ ประเภทเดียวกับพวกมักกะลีผล มีบูชาแล้วร่ำรวย จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่พืช ไม่ใช่ว่าน แต่เป็นเป็นตัวอ่อนของจักจั่น ที่ตายแล้วเนื่องจากการติด “เชื้อราทำลายแมลง” ในขณะที่เป็นตัวอ่อน ช่วงที่ขึ้นจากใต้ดินมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน

จากการศึกษาของนักวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค สวทช. พบว่า มีราทำลายแมลง ในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด โดยพบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น

ซึ่งพวกเชื้อราทำลายแมลงในว่านจักจั่นนี้เอง ปรกติก็ไม่ใช่เชื้อที่มีพิษ แต่อาจจะมีราอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดพิษต่อคนที่กินเข้าไป มาเจริญเติบโตอยู่ด้วยได้ ถ้าโชคร้ายเจอสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดพิษแรงๆ

ทั้งนี้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็ระบุว่า สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่า ว่านจักจั่นมีความใกล้เคียงกับราชนิด Ophiocordyceps sobolifera กินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศรีษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม