หน้าแรก > การเมือง

กลุ่มภาคประชาชน ญาติวีรชน 35 แถลงยื่นคำร้อง ป.ป.ช ถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะ ออกพรก. เลื่อนการใช้ พรบ.ป้องกันการอุ้มหายฯ

วันที่ 2 มิถุนายน 2023 เวลา 15:00 น.


ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่มญาติวีรชน 35 และภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมยื่นคำร้องต่อ ปปช.ให้ถอดถอนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรี กรณี ‘จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ’ เป็นการ “ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ในการออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ 4 มาตราออกไปโดยไม่มีอำนาจทำได้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และญาติผู้สูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 35 กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ถือว่ามีประโยชน์ วีรชนผู้สูญหายที่มีจำนวนมากกว่าที่รัฐบาลกล่าวไว้ ซึ่งได้เรียกร้องพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้รับความเพิกเฉย และไม่ได้ข้อยุติในนามรัฐบาล สิ่งสำคัญคือ ความเสียหายของประชาชนซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่รัฐบาลไม่ส่งเสริม แต่กลับขัดขวาง แม้ไม่หลายเดือน แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว คณะกรรมการญาติฯ ได้เรียกร้องไปเมื่อ 24 พ.ค. ให้รัฐบาลรับผิดชอบ ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ รมว.มหาดไทย โดยเฉพาะ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ที่เป็นผู้เสนอให้มี พ.ร.ก.

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า  พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ มีความสมบูรณ์ในสาระบัญญัติ เพิ่มเติมจากกฎหมายอาญา และในวิธีพิจารณาความในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้า และสมบูรณ์อย่างยิ่งฉบับหนึ่งซึ่งประเทศเคยมี แต่ไม่น่าเชื่อว่า แค่ 2 วัน ก่อน 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายกำลังจะมีผล รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ใน 4 มาตราสำคัญ อ้างว่าอุปกรณ์ไม่พร้อม แต่ความจริงจะมีแผนล้มเลิกการใช้ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต้องการให้มีเนื้อหาที่จะควบคุมตรวจจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ดังกล่าว ก็ไม่เข้าข่ายถึงเหตุผลที่ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินอย่างยิ่ง

นายพิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษาญาติวีรชนฯ กล่าวว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า พ.ร.ก.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ปกติ นายกฯ ต้องลาออก แต่ประเทศไทยก็มักมีความไม่ปกติเป็นปกติ คณะกรรมการญาติฯ ไม่ได้ฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เราเป็นผู้สูญเสียญาติในเหตุการณ์พฤษภา ’35 ซึ่งมีบุคคลสูญหายมากกว่าที่กระทรวงมหาดไทยประกาศว่ามี 48 คน ดังนั้น เหตุที่คณะกรรมการญาติฯ จัดการแถลงข่าว จึงมีความชอบธรรมเพราะต่างก็ได้รับผลกระทบโดยตรง เราดีใจที่ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการอุ้มหายได้ประกาศใช้ และกรณีที่ฝ่ายรัฐกระทำอุ้มหาย ซึ่งมีเพียง 2 หน่วยงานคือ ตำรวจ และ ทหาร แต่การออก พ.ร.ก.ชะลอบางมาตรา จึงถือว่าต้องรับผิดชอบ และต้องลาออก แต่มีการตีคารมโดยนักกฎหมายของรัฐบาล ว่าเวลานี้เป็นรักษาการ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบ

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ระบุว่า พ.ร.ก. เป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของญาติวีรชนเป็นอย่างมาก เพราะหลังเหตุการณ์ 24 พ.ค. 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เป็นเหตุให้ความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการอันเป็นอาชญากรรมต่อประชาชน ไม่ต้องรับผิด

พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นเหตุให้ญาติผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและอาญา แต่เนื่องจาก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ศาลจึงยกฟ้อง นี่คือการฆ่าซ้ำสองกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในเวลานั้น ส.ส.ได้เสนอญัตติให้สมาชิกฯ ลงมติตีความว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน กรณีที่ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ ไม่ได้เปิดให้มีการลงมติ โดยอ้างว่ามีผู้รวมชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน

ข่าวยอดนิยม