วันที่ 19 มีนาคม. 2023 เวลา 18:52 น.
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายวิชานนท์ แสนผาลา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รายงานว่า ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง 18 มีนาคม 2566 ภายใต้การอำนวยการของนายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย ของประเทศไทย กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจ ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ) ส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมกันสืบสวนขบวนการทำไม้กฤษณาข้ามชาติตามที่มีผู้ประสงค์ดีแจ้งเบาะแสมา ว่ามีชาวเวียดนามเข้ามาทำไม้กฤษณา (ไม้หอม) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยหลายพื้นที่ เป็นการทำลายความมั่นคงทางระบบนิเวศ และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ลาดตระเวนอยู่ในผืนป่า
จากการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 21.30 น. คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึด-จับกุม กลุ่มขบวนการชาวเวียดนามจำนวน 6 คน และรถยนต์จำนวน 2 คัน ชิ้นไม้กฤษณาจำนวน 173 กิโลกรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิด จำนวนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันเก็บหาไม้กฤษณาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ถือเป็นความผิดตามข้อหา คือ
1.ฐานร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 53 และมาตรา 96 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
2. ฐานร่วมกันทำด้วยประการใดให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติเดิน ตามมาตรา 55 (2) และมาตรา 99 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
3. ฐานร่วมกันกับพวก เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ตามมาตรา 55 (5) และมาตรา 100 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
4. ฐานร่วมกันกับพวกเก็บหาของป่าหวงห้าม หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 และมาตรา 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
5. ฐานร่วมกันกับพวกค้าของป่าหวงห้ามหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 ทวิ และมาตรา 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
6. ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า ตามมาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
7. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 14 และมาตรา 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
8. ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 26/4 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกจับกุมและนำตัวผู้กระะทำผิดและของกลางกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ทั้งนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการสืบสวนหาข้อมูลกลุ่มขบวนการดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและตรวจยึดของกลางได้ดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
22 มีนาคม. 2023
22 มีนาคม. 2023
22 มีนาคม. 2023
22 มีนาคม. 2023